<< กลับสู่หน้ารายการ
ดาวโหลดข้อมูล
<< กลับสู่หน้ารายการ
สับปะรดพันธุ์ กวก. เพชรบุรี 3
- ประวัติ
- สับปะรดลูกผสมสายพันธุ์ SPPV#51 ได้จากการคัดเลือกลูกผสมสับปะรดระหว่างพันธุ์สิงคโปร์ปัตตาเวีย (แม่) ? ปัตตาเวีย (พ่อ) ตามแผนการคัดเลือกสายต้น (clonal selection) ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี โดยปี 2539 สร้างประชากรสำหรับคัดเลือกจากลูกผสมสับปะรด 3 คู่ผสม ได้แก่ สิงคโปร์ปัตตาเวีย?ปัตตาเวีย (SPPV) ปัตตานี?ปัตตาเวีย (PNPV) และตราดสีทอง?ปัตตาเวีย (TTPV) ได้สับปะรดลูกผสม รวม 1,280 ต้น ปี 2542-2548 คัดเลือกได้ 20 สายพันธุ์ มีน้ำหนักผลสดไม่น้อยกว่า 0.9 กิโลกรัม รสชาติหวาน มีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (Total Soluble Solid, TSS) ไม่น้อยกว่า 15.0 องศาบริกซ์ เนื้อนุ่มละเอียด ไม่ระคายลิ้น และไม่ติดเมล็ดภายในผล ปี 2549-2553 ปลูกประเมิน ร่วมกับพันธุ์ตราดสีทอง (พันธุ์การค้า) คัดเลือกไว้ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ SPPV#51 PNPV#61 และ TTPV#63 มีลักษณะทางการเกษตรสม่ำเสมอ น้ำหนักผลสดไม่น้อยกว่า 0.9 กิโลกรัม ความยาวผลมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางผล (Length ratio มากกว่า 1.0) ความยาวจุก 0.5-1.5 เท่าของ ความยาวผล ความลึกตาไม่เกิน 1.0 เซนติเมตร และอัตราส่วนของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่อปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ (Brix/Acid ratio) ไม่น้อยกว่า 20 ปี 2558-2562 ปลูกเปรียบเทียบสับปะรดที่คัดเลือก 3 สายพันธุ์ ร่วมกับพันธุ์ White jewel (กลุ่ม Maipure) และพันธุ์ตราดสีทอง (พันธุ์การค้า) ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี และศูนย์วิจัย พืชสวนเชียงราย พบว่าสับปะรดลูกผสมสายพันธุ์ SPPV#51 ให้ผลผลิตสูง มีเนื้อแน่นสีเหลือง ความฉ่ำน้ำระดับ ปานกลาง มีเส้นใยน้อย กลิ่นหอมปานกลาง และคุณภาพดีกว่าพันธุ์การค้าจึงขอรับรองเป็นพันธุ์แนะนำ
- ลักษณะประจำพันธุ์
- มีลักษณะทรงต้นแบบแผ่ออก (Spreading) ใบมีสีเขียวบริเวณกลางใบมีแถบสีม่วงแดงปานกลาง ขอบใบมีหนามรูปฟันเลื่อยขนาดเล็กสีเขียวอมเหลืองทั้งสองข้างอย่างสม่ำเสมอ ผลเป็นรูปทรงรี (elliptic) จุกตั้งตรง ผลแก่มีสีเขียวอ่อนเมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ลักษณะผลย่อย (ตา) แบน ผลที่ระดับความสุก 50 เปอร์เซ็นต์ มีเนื้อสีเหลือง ลักษณะแน่น ความฉ่ำน้ำระดับปานกลาง มีเส้นใยน้อย กลิ่นหอมปานกลาง
- ชื่อพันธุ์พืชที่รับรอง
- สับปะรดพันธุ์ กวก. เพชรบุรี 3
- พื้นที่แนะนำ
- เหมาะสมสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เช่น จังหวัดเพชรบุรี และภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงราย หรือจังหวัดที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน
- ข้อควรระวัง/ข้อจำกัด
- 1. ควรมีการบริหารจัดการศัตรูโรคเหี่ยวสับปะรด โดยแช่หน่อพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งพาหะนำโรคเหี่ยวสับปะรดก่อนปลูก และใช้หน่อจากแหล่งที่ไม่พบโรคเหี่ยวสับปะรดระบาด 2. ควรมีการห่อผลหากปลูกในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง และแสงแดดจัดเพื่อป้องกันการถูกแดดเผา
- หน่วยงานเจ้าของพันธุ์
- ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท กรมวิชาการเกษตร
- วันที่รับรอง (วัน/เดือน/ปี)
- 26 มิ.ย. 2567
- ประเภทพันธุ์
- พันธุ์แนะนำ
- ลักษณะเด่น
- 1. ผลผลิต 7.20 ตัน/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ตราดสีทอง 33 เปอร์เซ็นต์ 2. ปริมาณวิตามินซี 30.03 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร สูงกว่าพันธุ์ตราดสีทอง 23 เปอร์เซ็นต์ 3. ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ (Total Acid, TA) 0.52 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าพันธุ์ตราดสีทอง 22 เปอร์เซ็นต์ 4. อัตราส่วนปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ต่อปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ (Brix/Acid ratio) 33.26 สูงกว่าพันธุ์ตราดสีทอง 31 เปอร์เซ็นต์ 5. เนื้อแน่น นุ่มละเอียด เมื่อสุกเนื้อสีเหลืองเข้ม
- ประเภทพืช
- พืชสวน
ดาวโหลดข้อมูล
<< กลับสู่หน้ารายการ