<< กลับสู่หน้ารายการ
ดาวโหลดข้อมูล
<< กลับสู่หน้ารายการ
เห็ดเป๋าฮื้อพันธุ์ กวก. สทช. 1
- ประวัติ
- ในช่วงปี 2541 - 2542 พรรณีและคณะ (2543) ได้คัดเลือกสายพันธุ์เห็ดเป๋าฮื้อจากศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย กลุ่มงานจุลชีววิทยาประยุกต์ กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร (เดิม) ปัจจุบัน คือ กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร จำนวน 8 สายพันธุ์ โดยทดสอบ 2 แห่งคือ ที่โรงเพาะเห็ดของศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และที่โรงเพาะเห็ดกลุ่มงาน จุลชีววิทยาประยุกต์ กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรุงเทพมหานคร ในช่วงฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ผลการทดสอบพบเห็ดเป๋าฮื้อ 3 สายพันธุ์ ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ จึงใช้เป็นสายพันธุ์ที่แนะนำให้เกษตรกรนำไปเพาะ โดยให้รหัสชื่อว่า เห็ดเป๋าฮื้อ-1 เห็ดเป๋าฮื้อ-2 และเห็ดเป๋าฮื้อ-3 ต่อมา อนุสรณ์และคณะ (2563) ได้รวบรวมสายพันธุ์เห็ดเป๋าฮื้อ-1 เห็ดเป๋าฮื้อ-2 เห็ดเป๋าฮื้อ-3 และสายพันธุ์อื่นๆ จากศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย จำนวน 13 สายพันธุ์ และเห็ดเป๋าฮื้อจากการเก็บตัวอย่าง จาก จ.ราชบุรี จ.สกลนคร กรุงเทพมหานคร และจากประเทศไต้หวัน จำนวน 4 สายพันธุ์ รวมทั้งสิ้น 17 สายพันธุ์ โดยใช้รหัสใหม่ในการทดสอบและคัดเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและมีลักษณะดีตามความต้องการของตลาด เป็น No.1 - No.17 จากการประเมินการเจริญของเส้นใยบนอาหารเพาะเลี้ยง PDA ในเมล็ดข้าวฟ่างนึ่งฆ่าเชื้อ และบนวัสดุเพาะ (ขี้เลื่อย) ที่อุณหภูมิต่าง ๆ ทำการประเมินผลผลิตและลักษณะดอกเห็ดจากการเพาะทดสอบที่โรงเรือนเพาะเห็ด กรมวิชาการเกษตร คัดเลือกสายพันธุ์ที่มีผลผลิตสูงหรือมีลักษณะของดอกเห็ดที่ดี จำนวน 5 สายพันธุ์ คือ No.1 No.10 และ No.4 ซึ่งให้ผลผลิตสูงที่สุด และสายพันธุ์ No.14 และ No.16 ที่มีลักษณะดอกดีตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อนำไปเพาะทดสอบเปรียบเทียบที่โรงเพาะเห็ด 3 แห่ง คือ โรงเรือนเพาะเห็ดกรมวิชาการเกษตร กรุงเทพมหานคร และโรงเรือนเพาะเห็ดของเกษตรกร 2 แห่ง ที่จังหวัดนนทบุรีและระยอง ผลการทดสอบพบว่าเห็ดเป๋าฮื้อสายพันธุ์ No.14 ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าสายพันธุ์เปรียบเทียบ และมีลักษณะของดอกเห็ดที่ดี ตรงตามความต้องการของตลาด คือ มีลักษณะดอกเห็ดสีครีมถึงน้ำตาลเทา มีความแน่นของเนื้อดอกสูง จึงได้เลือกเห็ดเป๋าฮื้อสายพันธุ์ No.14 มาเป็นเชื้อบริการของศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทยเพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้สนใจในรูปแบบเชื้อพันธุ์เห็ดบริสุทธิ์
- ลักษณะประจำพันธุ์
- ดอกเห็ดมีลักษณะแบนทรงพัด ดอกสีครีมถึงน้ำตาลเทา มีขนาดกว้าง 10.91 เซนติเมตร สูง 7.93 เซนติเมตร และหนา 2.55 เซนติเมตร ขอบดอกเห็ดค่อนข้างเรียบ ก้านอวบ ขนาดยาวปานกลาง มีขนาดกว้าง 2.81 เซนติเมตร สูง 3.98 เซนติเมตร เนื้อดอกแน่น ไม่เหนียว ออกดอก 1 - 2 ดอกต่อช่อ
- ชื่อพันธุ์พืชที่รับรอง
- เห็ดเป๋าฮื้อพันธุ์ กวก. สทช. 1
- พื้นที่แนะนำ
- จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง กำแพงเพชร ปราจีนบุรี จันทบุรี ระยอง กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ราชบุรี เพชรบุรี พัทลุง สงขลา หรือในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียง มีอุณหภูมิที่เหมาะสมในระหว่างการบ่มเส้นใยที่ 30 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเกิดดอกที่ 28 - 32 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
- ข้อควรระวัง/ข้อจำกัด
- 1. อุณหภูมิขณะเปิดดอกเห็ดเป๋าฮื้อหากต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส จะทำให้ดอกเห็ดมีสีเข้มขึ้น หมวกดอกเห็ดเจริญเติบโตได้ช้า จึงไม่แนะนำให้เพาะเห็ดเป๋าฮื้อในช่วงฤดูหนาวของบางพื้นที่ 2. หากการระบายอากาศภายในโรงเรือนไม่ดีจะทำให้ก้านดอกเห็ดยืด ทำให้รูปทรงของก้านดอกเห็ดผิดปกติ
- หน่วยงานเจ้าของพันธุ์
- กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สานักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร
- วันที่รับรอง (วัน/เดือน/ปี)
- 26 มิ.ย. 2567
- ประเภทพันธุ์
- พันธุ์แนะนำ
- ลักษณะเด่น
- 1. ให้น้ำหนักผลผลิตเฉลี่ย 127.09 กรัม/ถุง (900 - 950 กรัม) ซึ่งสูงกว่าเห็ดเป๋าฮื้อสายพันธุ์เดิม ที่ให้บริการของกรมวิชาการเกษตร คือ เห็ดเป๋าฮื้อ-3 ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 98.60 กรัม/ถุง (900 - 950 กรัม) เท่ากับให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 28.89 เปอร์เซ็นต์ 2. ดอกเห็ดมีขนาดใหญ่ ก้านอวบ โดยมีขนาดกว้าง 10.91 เซนติเมตร สูง 7.93 เซนติเมตร และหนา 2.55 เซนติเมตร ขอบดอกเห็ดค่อนข้างเรียบ ก้านอวบ ขนาดยาวปานกลาง มีขนาดกว้าง 2.81 เซนติเมตร ยาว 3.98 เซนติเมตร เนื้อแน่น มีความแน่นเนื้อ 0.7 กิโลกรัมแรง ซึ่งดีกว่าเห็ดเป๋าฮื้อสายพันธุ์เดิมของกรมวิชาการเกษตร คือ เห็ดเป๋าฮื้อ-3 ที่มีขนาดกว้าง 9.41 เซนติเมตร สูง 7.56 เซนติเมตร และหนา 1.80 เซนติเมตร ก้านยาวเล็ก มีขนาดกว้าง 1.84 เซนติเมตร ยาว 5.85 เซนติเมตร เนื้อดอกมีความแน่นเนื้อ 0.66 กิโลกรัมแรง 3. ขนาดและรูปร่างของดอกตรงตามเกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง เห็ดสกุลนางรม (มกษ.1514 - 2555) โดยมีขนาดดอกเห็ดอยู่ในรหัสขนาด 1 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง มากกว่า 7 เซนติเมตร (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, 2555)
- ประเภทพืช
- พืชสวน
ดาวโหลดข้อมูล
<< กลับสู่หน้ารายการ