สำหรับเจ้าหน้าที่
สำหรับเจ้าหน้าที่







<< กลับสู่หน้ารายการ

เห็ดถั่วฝรั่งพันธุ์ กวก. สทช. 1



ดาวโหลดข้อมูล
ประวัติ
เห็ดถั่วฝรั่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coprinus comatus (O.F.M?ll.:Fr.) Pers. ชื่อสามัญเรียกกันตามลักษณะที่ปรากฏของดอกเห็ด เช่น Shaggy mane หรือ chicken drumstick mushroom หรือ lawyer's wig เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย จัดอยู่ในกลุ่มเห็ดเมืองหนาว (Temperate Mushrooms) ที่ชอบอุณหภูมิต่ำ (18 - 23 องศาเซลเซียส) ในการเจริญและออกดอก เช่นเดียวกับเห็ดกระดุมหรือเห็ดแชมปิญอง เห็ดเข็มทอง เห็ดไมตาเกะ เห็ดเออรินจิ เห็ดนาเมโกะ และ เห็ดชิเมจิ เป็นต้น ซึ่งเห็ด Coprinus comatus นี้ จัดอยู่ในสุกลเดียวกันกับเห็ดถั่วหรือเห็ดโคนน้อย (Coprinus fimentarius หรือ C. cinereus) แต่เป็นเห็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลนี้ และจะสามารถออกดอกได้ในสภาวะอากาศเย็นเท่านั้น จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อว่า “เห็ดถั่วฝรั่ง” สำหรับประเทศไทย พบรายงานการนำเข้ามาศึกษาครั้งแรก โดย วราพร และคณะ (2550) ได้เริ่มศึกษาถึงปัจจัยและอิทธิพลต่อการเจริญของเห็ดถั่วฝรั่ง ต่อมาปี พ.ศ. 2553 - 2554 วราพรและอนุสรณ์ ได้ทำการประเมินสายพันธุ์เห็ดถั่วฝรั่งที่เหมาะสมกับการเพาะในประเทศไทย จำนวน 5 สายพันธุ์ ซึ่งเก็บรวบรวมไว้ในศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร คือ เห็ดถั่วฝรั่งสายพันธุ์ Comatus1 (สหรัฐอเมริกา) Comatus2 (สาธารณรัฐประชาชนจีน) Comatus3 (สาธารณรัฐประชาชนจีน) Comatus4 (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และ Comatus5 (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ผลการศึกษาพบว่าเห็ดถั่วฝรั่งสายพันธุ์ Comatus1 Comatus3 และ Comatus5 มีการเจริญและความหนาแน่นของเส้นใยดีที่สุด จึงทำการคัดเลือกสายพันธุ์เห็ดถั่วฝรั่งมาทั้ง 3 สายพันธุ์ เพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชิงการค้าให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดย วราพร และคณะ (2554) เริ่มตั้งแต่การศึกษาการเจริญของเส้นใยในอุณหภูมิต่าง ๆ จากนั้นศึกษาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดถั่วฝรั่ง ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ เช่น การผลิตแม่เชื้อบริสุทธิ์ การผลิตแม่เชื้อขยาย การพัฒนาสูตรอาหารฟางหมัก ตลอดจนศึกษาเทคโนโลยีการผลิตดอกจนประสบความสำเร็จ และได้จัดทำคู่มือ “เทคโนโลยีการผลิตเห็ดถั่วฝรั่ง” ปี พ.ศ. 2555 - 2556 ได้นำไปขยายผลโดยทดสอบเทคโนโลยีการผลิตเห็ดถั่วฝรั่งในสภาพโรงเรือนเกษตรกรแบบเพาะชั้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ในช่วงฤดูหนาว (พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์) พบว่า เห็ดถั่วฝรั่งสายพันธุ์ Comatus3 ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง (3,040 กรัมต่อตารางเมตร) เป็นที่พอใจอย่างมากของเกษตรกรผู้เพาะเห็ด และเมื่อเทียบกับการเพาะเห็ดแชมปิญองในราคาต้นทุนที่เท่ากัน ซึ่งผลผลิตที่ได้และราคาเห็ดถั่วฝรั่งสูงกว่าเห็ดแชมปิญอง 2 - 3 เท่าตัว (ราคาที่วางขายประมาณ 180 – 350 บาทต่อกิโลกรัม) คำนวณผลผลิตที่ได้ต่อโรงเรือน (ชั้นเพาะ 2 ? 6 เมตรต่อชั้น สูง 3 ชั้น) ให้ผลผลิตเฉลี่ยรวม 219.2 กิโลกรัม และสามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 2 - 3 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศในช่วงปีนั้น ๆ วราพร และคณะ (2556) ปี พ.ศ. 2557 ขยายผลการใช้ประโยชน์จากสายพันธุ์เห็ดถั่วฝรั่ง Comatus3 ในแปลงเกษตรกรต้นแบบ 3 กลุ่ม คือ เกษตรผู้เพาะเห็ดแชมปิญอง อำเภอเวียงป่าเป้า เห็ดหอม อำเภอแม่สาย และเห็ดโคนน้อย เห็ดฟาง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ให้สามารถผลิตเห็ดถั่วฝรั่งควบคู่ไปกับเห็ดเดิมที่มีการผลิตอยู่แล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ และเพิ่มความหลากหลายของเห็ดในท้องตลาด วราพร (2557) ปี พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน ขยายผลการใช้ประโยชน์เห็ดถั่วฝรั่งสายพันธุ์ Comatus3 สู่เกษตรกร ผู้เพาะเห็ดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยขยายวิธีการผลิตเห็ดถั่วฝรั่งอีก 1 รูปแบบ คือ แบบเพาะในถุงพลาสติกในระบบโรงเรือนปิด พบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจจากการมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มขยายการผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรสามารถมีชนิดเห็ดที่ใช้สำหรับผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นการค้า เพิ่มขึ้นหนึ่งชนิด เป็นการเพิ่มรายได้ และเพิ่มความหลากหลายของเห็ดในท้องตลาด
ลักษณะประจำพันธุ์
ลักษณะของดอกเห็ดถั่วฝรั่ง ประกอบด้วย หมวกเห็ด มีสีขาว ถึงขาวครีม มีความกว้าง 2.5 - 4.5 เซนติเมตร สูง 3 - 4.5 เซนติเมตร ด้านบนของผิวหมวกเห็ดมีขนเล็ก ๆ เป็นเกล็ดสีน้ำตาลอ่อนถึงเทา คลุมผิวบน เมื่อแก่หมวกเห็ดจะสลายกลายเป็นหมึกสีดำ ครีบดอก ไม่ยึดติดกับก้าน มีลักษณะบาง และเรียงกันแบบชิดมาก มีสีขาวเมื่อยังอ่อน ต่อมามีสีเข้มขึ้นจนกลายเป็นสีดำเมื่อเป็นดอกแก่ ก้านดอก มีลักษณะเรียวยาวเป็นทรงประบอก เชื่อมกับหมวกดอกตรงกลางหมวก มีสีขาวนวล เนื้อแน่นเมื่อยังอ่อนส่วนบนมีวงแหวนแบบไม่ถาวร 1 ชั้น
ชื่อพันธุ์พืชที่รับรอง
เห็ดถั่วฝรั่งพันธุ์ กวก. สทช. 1
พื้นที่แนะนำ
จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วงฤดูหนาว หรือเพาะในโรงเรือนที่สามารถควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเกิดดอกของเห็ดถั่วฝรั่งได้ คือ 18 - 23 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ 65 – 80 เปอร์เซ็นต์
ข้อควรระวัง/ข้อจำกัด
1. เห็ดถั่วฝรั่งเป็นเห็ดเมืองหนาวจึงเพาะได้เฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น 2. การเพาะในโรงเรือนที่ควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 18 - 20 องศาเซลเซียส จะมีต้นทุนสูงขึ้น 3. หากโรงเรือนมีอุณหภูมิสูง (สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส) ไม่สามารถกระตุ้นการเกิดดอกเห็ดถั่วฝรั่งได้
หน่วยงานเจ้าของพันธุ์
กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สานักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร
วันที่รับรอง (วัน/เดือน/ปี)
26 มิ.ย. 2567
ประเภทพันธุ์
พันธุ์แนะนำ
ลักษณะเด่น
1. ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 2,557.10 กรัมต่อตะกร้า (วัสดุเพาะ 5 กิโลกรัม) เมื่อเพาะในระบบปิดควบคุมอุณหภูมิ 18 - 20 องศาเซลเซียส 2. ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 3,040 กรัมต่อตารางเมตร เมื่อเพาะในระบบเปิดแบบเพาะชั้นช่วงอุณหภูมิ 18 – 23 องศาเซลเซียส 3. ดอกมีขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ย 35.0 – 55.0 กรัมต่อดอก
ประเภทพืช
พืชสวน

ดาวโหลดข้อมูล

<< กลับสู่หน้ารายการ